หน้าที่ความรับผิดชอบ ฝ่ายจัดการความปลอดภัยเขื่อนและอาคารชลประทาน

1. ศึกษา วิจัย และตรวจสอบสภาพทางด้านวิศวกรรมของเขื่อน ทั้งสภาพโครงสร้างภายนอกและพฤติกรรมภายในตัวเขื่อนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทาน เพื่อรายงานความผิดปกติหรือสภาพความเสียหาย โดยครอบคลุมเฉพาะเขื่อนที่มีรูปแบบ การกักเก็บน้ำ (Storage Dam) ได้แก่ เขื่อนดิน เขื่อนคอนกรีต รวมทั้งอาคารประกอบของตัวเขื่อนทั้งหมด


2. ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และประเมินสภาพเขื่อนด้วยวิธีการ ต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ เช่น วิธีการดัชนีสภาพ (Condition Index : CI) เพื่อวิเคราะห์สภาพเขื่อนและอาคารประกอบ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางและแผนงานซ่อมแซมหรือปรับปรุงเขื่อนให้มีความมั่นคงปลอดภัย และใช้งานได้ตามปกติหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น


3. วิเคราะห์ วางแผน และคำนวณปริมาณงานในการซ่อมแซม ปรับปรุงเขื่อนและอาคารประกอบ ในพื้นที่เขตความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทาน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึง ความคุ้มทุน ความมั่นคงแข็งแรง และประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดียิ่งขึ้น


4. ติดตามสถานการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อตัวเขื่อน เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย ปริมาณน้ำหลากเข้าอ่างเก็บน้ำในปริมาณสูงและรวดเร็ว เป็นต้น เพื่อตรวจสอบสภาพของตัวเขื่อนและอาคารประกอบ และเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายและการวิบัติของเขื่อน รวมทั้งกำหนด วิธีป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทันท่วงที


5. ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของโครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเขื่อน หรือผู้ปฏิบัติงานในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ภายในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทาน ให้สามารถตรวจสภาพ สังเกต ความผิดปกติของเขื่อน และการใช้เครื่องมือในการตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาจากความเสียหายของเขื่อนในเบื้องต้นได้


6. วางแผน และกำกับดูแลการดำเนินงานจัดหาและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ร่วมกับโครงการต่าง ๆ ภายในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทาน โดยกำหนดลักษณะและรูปแบบของเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนให้อย่างเหมาะสมตามประเภทและพื้นที่ตั้งของเขื่อนต่าง ๆ


7. รวบรวมและจัดทำระบบฐานข้อมูลสภาพเขื่อนที่เป็นปัจจุบัน (Real-Time) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการรายงานสภาพของเขื่อนแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป


8. พัฒนาและประยุกต์ใช้แบบจำลองประเมินสภาพเขื่อนในเชิงตัวเลข เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยทดแทนหรือปรับปรุงวิธีการตรวจประเมินแบบเดิม ให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีกระบวนการตรวจสอบที่ง่ายขึ้น


9. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด